การศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ (Project Feasibility Study) คือ การวิเคราะห์โครงการทางด้านต่างๆเพื่อให้มั่นใจได้ว่าโครงการที่เลือกมานั้นมีความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ มีผลตอบแทนหรือผลประโยชน์ที่คุ้มค่าต่อการลงทุนและสามารถใช้ทรัพยากรได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยจะต้องไม่ก่อให้เกิดผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมและสังคมตามมาในภายหลังและสามารถทำให้บรรลุได้ตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ภายใต้ข้อจำกัดทางด้านงบประมาณและเวลา

สำหรับบทความนี้จะมุ่งเน้นการการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ขนาดเล็ก และ ขนาดกลาง โดยจะเน้นด้านการเงิน และ เศรษฐศาสตร์เพื่อประมาณการผลตอบแทนที่คาดว่าจะได้รับว่าคุ้มค่าต่อการลงทุนมากน้อยแค่ไหน โดยขั้นตอนทั่วไปจะมีดังนี้

การประเมินกำลังการติดตั้งเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า

  1.  ความเข้มแสง หรือ ศักยภาพพลังงานแสงอาทิตย์ของที่ตั้งโครงการ โดยพิจารณาจากข้อมูล แผนที่ศักยภาพพลังงานแสงอาทิตย์ โดยควรจะเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพสูงของค่าความเข้มแสงเฉลี่ยตลอดทั้งปีต้องไม่ต่ากว่า 19-20MJ/ตารางเมตร-วัน หรือ 5.28 – 5.65 kWh ต่อวัน ซึ่งในเมืองไทยเองนี้ไม่ค่อยจะมีความแตกต่างกันของแสงอาทิตย์
  2. พื้นที่ติดตั้ง โดยจะเป็นพื้นที่ที่สามารถติดตั้งได้โดยไม่มีเงามาบัง สามารถรับแสงได้อย่างเต็มที่ เช่น พื้นที่หลังคา ดาดฟ้า หรือ พื้นที่โล่งแจ้ง
  3. ปริมาณการใช้ไฟฟ้าช่วงกลางวัน โดยพลังงานแสงอาทิตย์จะสามารถทดแทนการใช้ไฟฟ้าในช่วงกลางวันได้ การที่มีการใช้ไฟฟ้าช่วงกลางวันมาก จะสามารถทำให้ติดตั้งได้มากเช่นกัน
  4. ความพร้อมทางด้านการเงิน เนื่องจากโซลาเซลล์เป็นการลงทุนขนาดใหญ่ (capital intensive) ต้องใช้เงินลงทุนค่อนข้างมาก แต่จะไม่มีค่าใช้จ่ายที่เป็นต้นทุนผันแปร โดยการลงทุนนี้อาจจะเป็นเงินของส่วนทุน (Equity) หรือ การกู้ยืมจากธนาคาร หรือกองทุน (debt) ก็เป็นได้
  5. นโยบายระดับชาติและระดับของความเสี่ยงทางการเมือง โดยหากมีการสนับสนุนจากภาครัฐเพื่อส่งเสริมการติดตั้ง จะทำให้โอกาสการติดตั้งมีมากขึ้น ที่ผ่านมาก็จะมีทั้งสัญญาการซื้อขายไฟฟ้า หรือ PPA (power purchase agreement) ทั้งในรูปแบบของ Adder (ค่าไฟฟ้ารับซื้อจะที่บวกขึ้นมาค่าไฟฟ้าฐาน) และ Feed in Tariff (ค่าไฟฟ้ารับซื้อจะคงที่ตลอดอายุสัญญา)

การวิเคราะห์ความคุุ้มทุนของโครงการ Analysis of the cost effectiveness of the project.

การวิเคราะห์ความคุ้มทุนของโครงการ  พิจารณาจาก 4 ตัวชี้วัด ดังนี้

1. มูลค่าปัจจุบันสุทธิ (Net Present Value – NPV) ตัวชี้วัด NPV เป็นค่าแสดงถึงความสามารถในการทำกำไรของโครงการ ณ อัตราคิดลดที่กำหนด ซึ่งถ้าหากค่า NPV > 0 แสดงว่า โครงการมีความคุุ้มทุน

2. อัตราผลตอบแทนทางการเงิน (Internal Rate of Return – IRR) ตัวชี้วัด IRR เป็นค่าแสดงถึงอัตราผลตอบแทนที่แท้จริงของโครงการ ซึ่งถ้าหาก IRR > อัตราค่าเสียโอกาสของเงินทุน แสดงว่าโครงการมีความ ความคุ้มทุน

3. ระยะเวลาคืนทุน (Payback Period – PB) ระยะเวลาคืนทุน คือ ระยะเวลาที่ผลตอบ แทนสุทธิ จากการดำเนินงานมีค่าเท่ากับค่าลงทุนของโดยส่วนใหญ่จะกำหนดให้มีระยะเวลาคืนทุนประมาณ 5 ปี

4. ความสามารถในการชำระหนี้ (Debt Service Coverage Ratio – DSCR) เพื่อเป็นการประกันว่าผู้กู้จะสามารถจ่ายเงินคืนได้ตามสัญญา โดย DSCR = เงินรายได้/ภาระผ่อนชำระหนี้ ซึ่งถ้า DSCR > 1 แสดงว่า โครงการมีความสามารถในการชำระหนี้

Reference

http://www.thaienergytraining.com/ https://www.stou.ac.th/stouonline/lom/data/sec/Lom14/02.html