โซล่ารูฟ (Solar rooftop) คืออะไร ?

 

โซล่ารูฟ (Solar rooftop)

อาจจะไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับประเทศไทยสำหรับโซล่ารูฟ หรือ โซล่ารูฟท๊อป (Solar rooftop) โดยเป็นการติดตั้งแผงโซลาเซลล์ไว้บนหลังคา หรือ ดาดฟ้า เมื่อแผงโซลาร์เซลล์ได้รับแสงแดด หรือ พลังงานจากแสงอาทิตย์ก็จะส่งกระแสไฟฟ้าไปยังเครื่องแปลงไฟ (Inverter) เพื่อเปลี่ยนไฟฟ้ากระแสตรงเป็นกระแสไฟฟ้าสลับ ก่อนจ่ายไปยังส่วนต่าง ๆ ภายในบ้าน แต่หากเป็นช่วงฟ้าปิด ฝนตก หรือความเข้มของแสงอาทิตย์ไม่เพียงพอ ระบบก็จะสลับกลับมาใช้ไฟฟ้าแบบปกติโดยอัตโนมัติ

รูปแบบการติดตั้งโซล่าเซลล์

มีการสนับสนุนโซล่ารูฟ (Solar rooftop) จากภาครัฐอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2562 ทางกระทรวงพลังงานได้ออก โครงการโซล่าภาคประชาชนปี 2562 เพื่อสนับสนุนให้บ้านเรือนทั่วไปผลิตไฟฟ้าใช้เอง และ นำส่วนเกินมาขายให้กับการไฟฟ้าฯ โดยจะรับซื้อไฟฟ้าที่เหลือจากการใช้งานคืนในอัตราหน่วยละ 1.68 บาท เป็นระยะเวลา 10 ปี โดยรับซื้อไม่เกิน 10 kW ต่อหลังนั้น

สำหรับการติดตั้งโซล่ารูฟ จะใช้พื้นที่ติดตั้งประมาณ 6-10 ตาราเมตรต่อ kW (ขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพของแผงโซลาร์เซลล์) โดยการลงทุนติดตั้งโซล่ารูฟ เมื่อเทียบอดีตแล้วมีความคุ้มค่ามากขึ้น เนื่องจากเงินลงทุนเพื่อติดตั้งโซล่าเซลล์ ลดลงมามากแล้วจากเดิม 70,000-100,000 บาท ต่อ kW (เมื่อ 10 ปีที่แล้ว) ในปัจจุบันลดลงมาเหลือประมาณ 30,000 – 50,000 บาทต่อ kW  ยกตัวอย่าง เช่น ระบบโซล่าเซลล์ขนาด 5 kW จะเงินลงทุนประมาณ 220,000 บาท จะสามารถผลิตไฟฟ้าได้ 6,500 หน่วยต่อปี สำหรับบ้านทั่วไปที่เป็นผู้ใช้ขนาดกลาง ค่าไฟเฉลี่ยประมาณ 4.4 บาทต่อหน่วย ระบบโซล่าเซลล์จะช่วยลดค่าไฟฟ้าได้ 28,600 บาทต่อปี ทำให้มีจุดคุ้มทุนอยู่ที่ประมาณ 8 ปี ในทางกลับกันถ้าผลิตไฟฟ้าเพื่อที่จะขายไฟคืนให้กับการไฟฟ้าฯ ในราคา 1.68 บาทต่อหน่วย จะขายไฟฟ้าได้เงินเพียง 10,920 บาทต่อปี ทำให้ระยะเวลาคืนทุนยาวออกไปถึง 22 ปีเลยทีเดียว

ถ้าอย่างนั้นนโยบายรับซื้อไฟฟ้าโครงการโซ่ลาเพื่อประชาชนปี 2562 นั้นก็ออกมาเสียเปล่า?

ที่รัฐออกนโยบายนี้มาก็เพื่อเน้นให้คนผลิตไฟฟ้าใช้เอง แล้วเหลือค่อยขายคืนให้การไฟฟ้า ซึ่งก่อนหน้าที่จะมีนโยบายนี้ออกมา ใครติดโซล่าเซลล์ก็ต้องติดตั้งระบบกันไฟฟ้าย้อนกลับด้วย โดยที่คิดแล้วค่าใช้จ่ายของระบบกันไฟฟ้าย้อนกลับนี้ก็มีราคาแทบไม่แตกต่างจากค่าเปลี่ยนมิเตอร์ในโครงการขายไฟฟ้าปัจจุบันนี้เลย แต่ผลดีจากการสมัครเข้าโครงการขายไฟที่ได้กลับมาก็คือ วันไหนที่เจ้าของบ้านไม่อยู่บ้านหรือไปเที่ยวเป็นเวลาหลายๆวัน ไฟฟ้าที่ผลิตได้ก็ยังสามารถขายออกไปได้อยู่ แทนที่ก่อนหน้านี้ระบบโซล่าเซลล์จะถูกปิดการทำงานด้วยระบบกันไฟฟ้าย้อนกลับ

สรุปก็คือถ้าบ้านใครมีการใช้ไฟฟ้าช่วงกลางวันมากๆ ติดโซล่าเซลล์ แล้วคุ้มค่าแน่นอน และถ้าจะให้ดีก็ควรไปลงทะเบียนขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าด้วย เผื่อวันไหนท่านไม่อยู่บ้าน หรือ ไม่ได้เปิดเครื่องใช้ไฟฟ้า ไฟฟ้าที่ผลิตมาก็ยังสามารถขายคืนให้การไฟฟ้าฯได้ครับ

ช่องทางการลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการขายไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าฯ โดยสามารถสมัครได้จนถึงสิ้นปี 2662 นี้เท่านั้นนะครับ

การไฟฟ้านครหลวง              https://spv.mea.or.th/

การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค           https://ppim.pea.co.th/

หรือสามารถศึกษาเพิ่มเติมได้ที่            การขออนุญาตติดตั้ง โซลาเซลล์ ทำยังไง ยุ่งยากมั้ย ค่าใช้จ่ายเท่าไร?